“มิจฉาชีพ” ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่พบได้บ่อยครั้งในปัจจุบัน และแม้ว่าจะมีการปราบปรามอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็สามารถพบเห็นผู้เสียหายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงผู้คนและแฝงตัว คือ “โลกแห่งการลงทุน” เพราะสามารถหากินจากความไม่รู้ของเหยื่อและช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้ผู้เสียหายหลายรายต้องสูญเสียเงินเกือบทั้งหมดไปจากกลโกงของมิจฉาชีพผู้แฝงตัวอยู่ในคราบนักลงทุน
ด้วยเหตุนี้ ทีมงาน TrustFinance จึงขอมอบความอุ่นใจในการลงทุนและการใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ให้แก่ทุกท่านด้วยการเปิดโปงรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อให้ลงทุน พร้อมทั้งวิธีตรวจสอบ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
มิจฉาชีพ คืออะไร ?
มิจฉาชีพ (Scammer) คือ ผู้ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย หาเลี้ยงชีวิตในทางผิด นับเป็นอาชญากรที่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะสร้างกลลวงในการหลอกล่อให้เหยื่อยอมสูญเสียเงินและทรัพย์สินโดยไม่สนความถูกต้อง

รูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อให้ลงทุน
กลยุทธ์การหลอกล่อของมิจฉาชีพที่พบเห็นในปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งหมดเป็นเพียงเทคนิคในการโน้มน้าวเหยื่อเพื่อหลอกให้ลงทุน ซึ่งสามารถแบ่งกลโกงเหล่านั้นเป็น 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
กลโกงของมิจฉาชีพรูปแบบที่ 1 : การโฆษณาชวนเชื่อ
การโฆษณาชวนเชื่อถือเป็นกลยุทธ์ที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในโลกการลงทุน โดยมิจฉาชีพมักจะมีคำที่ใช้เพื่อการโฆษณาที่เย้ายวนและเกินความเป็นจริง เพื่อโน้มน้าวหรือวาดฝันให้เหยื่อเห็นถึงโอกาสและผลตอบแทนที่จะได้รับเมื่อร่วมลงทุน หรืออาจจะเป็นการตั้งประเด็นให้เกิดความสงสัยเพื่อล่อลวงให้ผู้คนกดลิงก์ก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างการโฆษณาชวนเชื่อของมิจฉาชีพ
- รับประกันผลตอบแทนโดยไม่มีความเสี่ยง
- รับประกันผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ
- โอกาสในการร่วมลงทุนกับธุรกิจ/ แพลตฟอร์มใหม่ที่กำลังมาแรง
- ไม่ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ก็สามารถลงทุนได้
ขณะที่ในความเป็นจริงนั้น การลงทุนถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ไม่สามารถรับประกันผลตอบแทนได้ เนื่องจากผลงานในอดีตและปัจจุบันไม่สามารถคาดการณ์ผลงานในอนาคตได้แน่ชัด ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน หากคุณพบเห็นโฆษณาเชิญชวนดังตัวอย่างให้สันนิษฐานได้เลยว่า พวกเขาเหล่านั้นเข้าข่ายมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
กลโกงของมิจฉาชีพรูปแบบที่ 2 : การแอบอ้างอำนาจ
การแอบอ้างอำนาจเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในวงการการลงทุน รวมถึงวงการอื่น ๆ โดยมิจฉาชีพมักจะแฝงตัวด้วยวิธีการแอบอ้างอำนาจ ทั้งการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพล, บริษัทที่เป็นที่รู้จัก และหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความคุ้นชินให้กับเหยื่อ ทำให้เหยื่อวางใจที่จะมอบข้อมูลหรือเงินให้แก่มิจฉาชีพต่อไป
ตัวอย่างการแอบอ้างอำนาจของมิจฉาชีพ
- การนำภาพนักร้อง/ นักแสดง/ ผู้มีชื่อเสียงมาประกอบโดยไม่ได้รับอนุญาต
- การเปิดบัญชีสื่อออนไลน์ด้วยการสร้างตัวตนปลอม
- การจงใจบิดเบือนชื่อ/ สัญลักษณ์ของแบรนด์หรือบุคคลที่เป็นที่รู้จัก
- การอ้างถึงหน่วยงานตำรวจ หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือ
ขณะที่ในความเป็นจริงนั้น นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งครอบคลุมถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจและการโฆษณาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น หากคุณต้องการลงทุนกับนายหน้าซื้อขายใด ๆ โปรดตรวจสอบความน่าเชื่อถือและใบอนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนทุกครั้ง
กลโกงของมิจฉาชีพรูปแบบที่ 3 : การกดดันด้วยเวลาและผลตอบแทน
อีกหนึ่งกลวิธีที่ได้รับความนิยม คือ การกดดันด้วยการจำกัดระยะเวลาและผลตอบแทนที่จะได้รับ นับเป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ทำให้เหยื่อรู้สึกพลาดโอกาสหากไม่ได้เข้าร่วม ดังนั้น เหยื่อที่หลงเชื่อจึงมักจะทำการมอบข้อมูลหรือชำระเงินทันทีเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่มิจฉาชีพได้หลอกล่อไว้ ทำให้กลโกงนี้มีผู้ตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างการกดดันของมิจฉาชีพ
- โอกาสการลงทุนสุดพิเศษเฉพาะวันนี้เท่านั้น
- จำกัดของรางวัลเฉพาะผู้เข้าร่วมภายในเวลาที่กำหนด
- จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน
- หากไม่โอนเงินภายในเวลาที่กำหนดจะถูกตัดสิทธิ์
การกดดันด้วยระยะเวลาและผลตอบแทนถือเป็นกลยุทธ์ที่เล่นกับจิตใจของผู้คนได้ดีที่สุด ทำให้หลายธุรกิจได้นำกลยุทธ์ดังกล่าวไปใช้ แต่อย่างไรก็ดี มันยังมีความแตกต่างระหว่างโปรโมชันเพื่อส่งเสริมการขายกับการกดดันเพื่อหลอกล่อให้เหยื่อสูญเสียเงิน เนื่องจากโปรโมชันเพื่อส่งเสริมการขายต่าง ๆ มักจะมีการกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่แน่ชัด อีกทั้ง ยังไม่ได้กดดันให้ผู้บริโภคเลือกซื้อหรือใช้บริการนั้น ๆ ขณะที่การกดดันของมิจฉาชีพจะเป็นการหลอกล่อเพื่อหาทางให้เหยื่อสูญเสียเงินในท้ายที่สุด ดังนั้น ทุกท่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจก่อนดำเนินการทางธุรกรรมทุกครั้ง

ตรวจสอบรายชื่อมิจฉาชีพได้อย่างไร ?
หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจะมีวิธีตรวจสอบรายชื่อมิจฉาชีพได้อย่างไร ? คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อนายหน้าที่ทำการซื้อขาย, ธุรกิจที่ต้องการลงทุน, ตัวแทนจำหน่าย หรือ IB ได้จากช่องทางต่อไปนี้
ตรวจสอบรายชื่อมิจฉาชีพจากหน่วยงานกำกับดูแล
หากเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) หรือผู้ให้บริการเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน คุณสามารถตรวจสอบใบอนุญาตได้ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้น ๆ ซึ่งสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทย คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
อย่างไรก็ดี หากเป็นโบรกเกอร์ Forex และ CFD จะไม่มีการรับรองในประเทศไทย เนื่องด้วยข้อกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง ทั้งนี้ การลงทุน Forex ไม่ได้ถูกจำกัดในประเทศไทย เพียงแต่ผู้ลงทุนจะต้องรับผิดชอบถึงผลที่ตามมาด้วยตนเอง ดังนั้น หากคุณต้องการเทรด Forex สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อของโบรกเกอร์ได้ผ่านหน่วยงานกำกับดูแลจากต่างประเทศเพื่ออ้างอิง
ตรวจสอบรายชื่อมิจฉาชีพจากรีวิวของผู้ใช้งานจริง
นอกจากการตรวจสอบความน่าเชื่อถือผ่านหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว คุณจำเป็นต้องตรวจสอบรีวิวของผู้ใช้งานจริงทุกครั้งร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์, ธุรกิจที่ต้องการลงทุน, ตัวแทนจำหน่าย หรือ IB เนื่องจากการดำเนินการและการให้บริการที่แตกต่างกันจะมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่แตกต่างกันตามไปด้วย
กล่าวคือ หากธุรกิจใด ๆ มีการดำเนินการที่โปร่งใส ยุติธรรม และใส่ใจผู้บริโภค ก็จะทำให้คุณได้รับประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีตามไปด้วย อีกทั้ง ยังไม่ต้องกังวลถึงปัญหาในการใช้งานในภายหลัง ซึ่งการจะตรวจสอบรีวิวจากผู้ใช้งานนั้น คุณสามารถค้นหารีวิวของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนจาก TrustFinance ได้โดยตรง หรืออาจค้นหาจากเว็บไซต์ยอดนิยมอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจก็ได้เช่นกัน
โดยสรุป กลโกงของมิจฉาชีพที่ใช้หลอกล่อให้เหยื่อร่วมลงทุนนั้นมี 3 รูปแบบหลัก คือ การโฆษณาชวนเชื่อ การแอบอ้างอำนาจ และการกดดันด้วยเวลาและผลตอบแทน ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้สามารถแตกแขนงเป็นกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทุกท่านจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน ซึ่ง TrustFinance ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นใจในการลงทุนของคุณด้วยการมอบข้อมูลที่ถูกต้องและรีวิวที่มาจากผู้ใช้งานจริง เพื่อให้คุณมั่นใจก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง