ปัจจุบันการเทรดฟอเร็กซ์ (Forex) ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนในประเทศไทยต้องทำการสมัครสมาชิกและเปิดบัญชีเทรด FOREX กับโบรกเกอร์ในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการเงินในไทยที่รองรับการลงทุนประเภทนี้ การเทรด FOREX นั้นสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้น เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยรอบข้างค่อนข้างมาก การที่อัตราการแลกเปลี่ยนมีความอ่อนไหวมากต่อปัจจัยรอบตัว จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสที่จะใช้ทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกัน ก็อาจจะขาดทุนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนใน FOREX จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจของโลก และประเมินได้ว่าปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างไรบ้าง จะช่วยทำให้ประเมินแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนมักคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆก็คือ trading strategy, leverage, spread, โบนัสและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำกำไร แต่มีนักลงทุนไม่มากนักที่จะคำนึงถึงรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายของโบรกเกอร์ซึ่งเปรียบเสมือนเทคนิคอย่างหนึ่งในการเทรด หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า A- Book และ B-Book บางโบรกเกอร์มีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ A-book เท่านั้น บางโบรกเกอร์เป็นแบบ B-book เท่านั้น หรือบางโบรกเกอร์มีการดำเนินการแบบทั้ง A-Book และ B-Book แล้ว A-Book กับ B-Book เป็นแบบไหน แตกต่างกันอย่างไร และควรจะเลือกลงทุนกับโบรกเกอร์แบบไหนดี ในบทความนี้มีคำตอบมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
A-Book และ B-Book คืออะไร
A-Book และ B-Book เป็นคำเรียกที่ใช้ในการอธิบายลักษณะการดำเนินการของโบรกเกอร์ในการส่งคำสั่งซื้อขายในตลาดฟอเร็กซ์ โดย A-Book จะเป็นการส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้าไปยังตลาดจริงโดยตรง ส่วน B-Book จะเป็นการดำเนินการผ่านระบบการจัดการที่ทำโดยโบรกเกอร์เองโดยรับความเสี่ยงด้วยทุนของบริษัทของตนเอง
ความแตกต่างระหว่างโบรกเกอร์แบบ A-Book และ B-Book
โบรกเกอร์ A-book: หรือ No Dealing Desk (NDD) เป็น STP Broker (Straight Through Processing) ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินการส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้าไปยังตลาดจริงโดยตรง การติดต่อทั้งหมดจะกระทำโดยตรงกับตลาดไม่ใช่กับโบรกเกอร์หรือบริษัทที่โบรกเกอร์ทำงานอยู่ และส่งเงินของลูกค้าทั้งหมด 100% เข้าสู่ตลาดจริง มักไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง โบรกเกอร์ A-Book จะได้ผลกำไรจากค่า Spread และ Commission ตามเงื่อนไขที่ประกาศในตอนแรกเท่านั้น ทำให้ผู้ลงทุนมีความปลอดภัยสูงในการซื้อขายและสามารถทำกำไรได้อย่างเต็มที่ในการสมัครเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกเกอร์ A-book ถือเป็นโบรกเกอร์ที่น่าเชื่อถือ เพราะมีเอกสารและข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นไปตามกฎหมายการเงินการธนาคารสากล ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นข้อบังคับโบรกเกอร์ให้ทำการซื้อขายอย่างถูกต้อง และจะมีแผนการตลาดแบบ Win : Win เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงมากขึ้น
โบรกเกอร์ B-book: หรือ Dealing Desk (DD) บางทีก็เรียกว่า Market Maker เป็นโบรกเกอร์ที่ดำเนินการส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้าผ่านระบบการจัดการของตนเอง ซึ่งจะดำเนินการผ่านระบบการจัดการที่ทำโดยโบรกเกอร์เอง โดยจะมีห้องรวบรวมข้อมูลของลูกค้าไว้ และจะมีพนักงานคอยตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า ออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งก็จะอยู่ในมือของโบรกเกอร์ เมื่อมีการซื้อขาย โบรกเกอร์ก็จะทำการจับคู่กับอีกฝั่งหนึ่งให้ ในบางกรณี โบรกเกอร์แบบ B-book อาจไม่ได้เป็นโบรกเกอร์ที่ถูกกฎหมาย พวกเขารับความเสี่ยงด้วยทุนของบริษัทของตนเอง ดังนั้นเมื่อผู้ลงทุนเทรดได้ โบรกเกอร์ก็จะเสียผลประโยชน์ แต่ถ้าผู้ลงทุนเทรดเสียโบรกก็จะได้กำไร ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ผู้ลงทุนอาจจะไม่มีความปลอดภัยในการลงทุน เพราะเงินไม่ได้เข้าสู่ตลาดจริง แต่กลับไปอยู่ในมือของโบรกเกอร์แทน ซึ่งเมื่อเงินไปอยู่ในมือของโบรกเกอร์แล้ว ก็จะเกิดช่องว่างให้โบรกเกอร์สามารถโกงผู้ลงทุนได้ โดยมีกลโกงอยู่หลากหลายรูปแบบ เช่น
– การดีเลย์คำสั่งออเดอร์
– การถ่างค่าสเปรดเกินจริง
– การดึงกราฟไส้เทียน
– หรือการปิดบัญชีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
แต่ก็ใช่ว่าโบรกเกอร์ประเภท B-Book จะไม่ดี บางโบรกเกอร์ที่มีขนาดใหญ่มากพอจะที่เป็น Liquid Provider เอง ผู้ที่นำราคาจากตลาดมาให้ลูกค้าเทรด และถือออร์เดอร์ตรงกันข้ามกับลูกค้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปส่งเข้าตลาดเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้เราสามารถเทรดกับโบรกเกอร์ได้อย่างไม่มีการ Requote
เลือกโบรกเกอร์แบบไหนดี

เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินได้ว่า A-Book หรือ B-Book ดีกว่ากัน แต่โบรกเกอร์ A-Book มีสภาพคล่องที่สูงกว่า เนื่องจากติดต่อกับตลาดโดยตรง และผลกำไรขาดทุนของเทรดเดอร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางโบรกเกอร์ ในทางตรงกันข้าม โบรกเกอร์ B-Book ที่มีขนาดใหญ่ หรือโบรกเกอร์ Liquid Provider ก็สามารถทำงานได้เทียบเท่าโบรกเกอร์ A-Book ดังนั้น หากต้องเลือกเปิดบัญชีกับโบรกใดโบรกหนึ่งควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น Spread ต่ำ, Commission ถูก, ฝากและถอนได้รวดเร็ว, เทรดแล้วไม่มีปัญหากราฟค้าง หรือเปิดออเดอร์ไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ใบอนุญาตของโบรกเกอร์นั้นๆ เนื่องจากใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์
กล่าวโดยสรุป A-Book และ B-Book เป็นเพียงลักษณะของการส่งคำสั่งซื้อขาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า A-Book และ B-Book คือ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่นักลงทุนควรใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกโบรกเกอร์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลของโบรกเกอร์โดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนสามารถลดความเสี่ยงจากการถูกโกงได้ เนื่องจากในตลาด Forex ยังมีโบรกเกอร์เถื่อนหรือไม่มีใบอนุญาตอยู่มาก ดังนั้นการเลือกเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานในระดับสากลจะปลอดภัยที่สุด
ตรวจสอบใบอนุญาตโบรกเกอร์ได้ที่: TrustFinance Regulation Checker