ปัจจุบัน ในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถเรียกได้ว่า ยุค AI ครองโลก มีการพัฒนาของเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆมากมาย มีเทคโนโลยีหนึ่งที่สำคัญและกำลังเป็นประเด็นในทางลบ คือ เทคโนโลยีที่เรียกว่า Deepfake ซึ่งสามารถสร้างเนื้อหาภาพและเสียงเสมือนจริงจนแยกไม่ออก ว่านี่คือชุดข้อมูลที่มนุษย์หรือเทคโนโลยี AI เป็นผู้สร้างขึ้น เป็นผลกระทบทำให้แทบไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ภาพวิดีโอหรือเสียง ที่แชร์ส่งต่อกันบนโลกออนไลน์นั้น คือความจริงหรือภาพลวง
Deepfake คืออะไร?
ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ เอ็ตด้า (ETDA) ให้ข้อมูลว่า AI Deepfake คือ Generative AI รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถสร้างสื่อสังเคราะห์ ทั้งภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ได้เหมือนคนพูดจริงๆ จนแทบแยกไม่ออก ด้วยระบบการเรียนรู้หรือ Deep Learning จากลักษณะภายนอกของบุคคล เช่น สีผิว ตา ปาก จมูก รูปลักษณ์ต่างๆ ความฉลาดล้ำจากการเรียนรู้ข้อมูลมหาศาลของ Generative AI ทำให้สร้างภาพและเสียงได้ราวกับว่าคนคนนั้นเป็นคนพูดอยู่จริงโดยคำว่า “deep” มาจาก “deep learning” ซึ่งเป็นเทคนิคในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน และ “fake” หมายถึงการปลอมแปลง
ดังนั้น Deepfake หมายถึง การปลอมแปลงสื่อสังเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ซับซ้อน ทำงานโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ โดยการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อเรียนรู้รูปแบบและลักษณะของบุคคลที่ต้องการปลอมแปลง โดยใช้ข้อมูลเข้า (input data) เช่น ภาพถ่ายหรือวิดีโอของบุคคลนั้น ๆ และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อสร้างภาพหรือวิดีโอที่เหมือนกับบุคคลนั้น ๆ
ทั้งนี้ การสร้างคลิปภาพและเสียงจาก Deepfake หลักๆ มี 2 แบบ คือ การปลอมแค่บางส่วน หรือ Face Wrap เช่น เอาหน้าที่อยากปลอมไปแปะใส่หน้าคนจริง แล้วให้พยายามเลียนแบบเสียงและพฤติกรรมให้เหมือนคนนั้นๆ ส่วนอีกวิธีคือการปลอมทั้งหมดหรือ Face Reenactment โดยใช้ AI เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ทั้งการให้แสงเงา การกะพริบตา การยิ้ม เลียนแบบทุกอย่าง ก่อนสร้างภาพเสียงสังเคราะห์เป็นคนคนนั้นขึ้นมา หากฟังแบบเผินๆ จะเหมือนจนยากจะแยกออก ยกตัวอย่าง รายการ America’s Got Talent รายการโชว์ความสามารถจากสหรัฐอเมริกา ที่ได้ใช้เทคโนโลยี AI Deepfake มาสร้างภาพและเสียงเลียนแบบนักร้องชื่อดังในตำนาน อย่าง Elvis Presley เพื่อทำให้การแสดงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จนทำให้ผู้ชมตกใจและเกือบเชื่อว่า คลิป Elvis Presley ที่เห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

รูปแบบกลโกงและผลกระทบจาก Deepfake
- ทางเพศ: การสร้างวิดีโอหรือสื่อลามกอนาจาร ซึ่งมีการใช้ใบหน้าของบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมและการเมือง การใช้กระทำในลักษณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและอาจสร้างผลกระทบทางจิตใจร้ายแรงให้แก่เหยื่ออีกด้วย
- ทางการเมือง: การสร้างวิดีโอปลอมแปลงใบหน้านักการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดกระแสข่าวปลอมที่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกระบวนการประชาธิปไตย ความไว้วางใจของสถาบัน และชื่อเสียงของประเทศได้
- ทางธุรกิจและกฎหมาย: การใช้ Deepfake อาจทำให้เกิดความสับสนและความไม่เชื่อถือในระบบกฎหมาย สามารถเป็นเครื่องมือในการก่อกวนระบบกฎหมาย และทำให้เกิดความสับสนในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการสร้างวิดีโอปลอมแปลงผู้บริหารหรือนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนและการฉ้อโกงทางธุรกิจซึ่งส่งผลกระทบทางการเงินและตลาดทุน
กลโกงจาก Deepfakeในประเทศไทย
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยี deepfake ในการฉ้อโกงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการหลอกลวงเหยื่อ โดยใช้การตัดต่อภาพหรือวิดีโอให้ดูเหมือนจริง โดยเฉพาะการทำให้ปากของตัวละครขยับตามเสียงพูด ซึ่งอาจทำให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นตัวจริง ในบางกรณี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้รูปของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหลอกเหยื่อ โดยใช้ในการตัดต่อเสียงให้เข้ากับใบหน้าของตำรวจ และทำให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นตำรวจจริง เพื่อหลอกให้โอนเงินหรือเพื่อการตรวจสอบบัญชีที่อ้างว่าโดนแอบอ้างใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย โดยมีตัวอย่างสเต็ปขั้นตอนการโกง ดังนี้
- รับสายโทรศัพท์ระบุเป็นเบอร์โทรจากต่างประเทศ
- อ้างตนเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งเอกชนแจ้งเรื่องพัสดุมีของผิดกฎหมาย
- ขอให้เปิดวิดีโอคอล เพื่อพูดคุยกับตำรวจ แต่เป็นตำรวจตัวปลอมที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ให้ภาพขยับแค่ปาก
- ใส่เสียงพูดเชิงข่มขู่ว่าพัสดุที่ส่งเป็นสมุดบัญชีซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงิน
- ขอตรวจสอบบัญชีด้วยการให้โอนเงินออกจากบัญชีมาไว้ที่ตำรวจ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์
- พูดหลอกล่อจนลูกค้าโอนเงินให้ทั้งหมด
- กว่าลูกค้าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ถอนเงินออกจากบัญชีไปหมดแล้ว
วิธีเช็คว่ากำลังถูกโกงด้วย deepfake หรือไม่
การสังเกตและ “จับไต๋” ของ deepfake เป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันการถูกหลอก โดยสามารถสังเกตได้จาก
- สังเกตที่แว่นตา: ในวิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI จะไม่สามารถสร้างภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างเหมือนจริงได้ 100% ดังนั้น การสังเกตที่แว่นตาว่ามีแสงสะท้อนหรือไม่ หรือมีมากเกินไปหรือเปล่า แสงตกกระทบเคลื่อนย้ายหรือไม่เวลาที่ใบหน้าขยับ เป็นจุดสังเกตที่บ่งบอกได้ชัดเจน
- สังเกตการเคลื่อนไหวของภาพ: Deepfake มักจะทำภาพเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ดังนั้นจะสังเกตเห็นได้วิดีโอจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไม่สมจริง
- ตรวจสอบคุณภาพเสียง: Deepfake อาจมีเสียงที่ไม่สอดคล้องกับภาพหรือมีเสียงที่ไม่เหมือนกับเสียงจริง
- ตรวจสอบแหล่งที่มาของวิดีโอ: ตรวจสอบว่าวิดีโอมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือมีการปรับแต่งวิดีโอหรือไม่
- ใช้เครื่องมือตรวจสอบ: ในปัจจุบัน มีเครื่องมือตรวจสอบ Deepfake ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยตรวจสอบว่าวิดีโอเป็น Deepfake หรือไม่ โดยเครื่องมือเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์วิดีโอ
- ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม: ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือเหยื่อที่ถูกกล่าวอ้างในวิดีโอ และตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่
ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก
- การพัฒนาเทคโนโลยีตรวจสอบ: ปัจจุบันมีทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบว่าภาพหรือวิดีโอที่เห็นเป็นของจริงหรือไม่
- การสร้างการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Deepfake: การศึกษาและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Deepfake และการป้องกัน จะสามารถช่วยป้องกันการโดนโกงได้
- การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย: ระบบกฎหมายจะต้องครอบคลุมให้สามารถรับมือกับการโกงโดยใช้ Deepfake ได้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงอัตลักษณ์บุคคล
- การพัฒนาความปลอดภัยด้านการรักษาข้อมูล: การพัฒนามาตรการการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการโดนโกงจาก Deepfake ได้
- ใช้วิจารณญาณ: เตือนตัวเองว่าอย่าเชื่อแค่ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน แล้วกดไลค์ กดแชร์ต่อ หรือแสดงความคิดเห็นทันที ต้องมององค์ประกอบหรือปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนบริบทที่เกิดขึ้น
- การศึกษาข้อมูลและตรวจสอบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ: เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นและการฉ้อโกงที่พัฒนารูปแบบให้เนียนขึ้น ดังนั้น การศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะเชื่อหรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างหน่วยงานที่น่าเชื่อถือในการศึกษาข้อมูลการเงินมีดังนี้:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET): เป็นหน่วยงานที่ให้บริการข้อมูลทางการเงินแก่ผู้ลงทุน โดยมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ราคาหุ้น ข่าวสาร และข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง.
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.): เป็นหน่วยงานที่ดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบ ผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธปท. เนื่องจากมีผลต่ออัตราผลตอบแทนในการลงทุน.
- สถาบันการเงิน: เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน เป็นต้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงินเหล่านี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจลงทุน.
- สื่อมวลชน: เป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารทางการเงิน ผู้ลงทุนควรเลือกสื่อที่มีความน่าเชื่อถือและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุน
- TrustFinance: เว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลครอบคลุมทางการเงิน รวมถึงรวบรวมรีวิวจากผู้ใช้งานจริงของแต่ละบริษัท เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยให้สามารถเช็คข้อมูลความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ รวมถึงสามารถเลือกบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองได้อีกด้วย

เทคโนโลยี Deepfake นำมาสู่ความท้าทายที่สำคัญในสังคมปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการหลอกลวง โดยเฉพาะในด้านการเมือง ธุรกิจและชีวิตส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ควรตระหนักและเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกัน การสร้างการตระหนักรับรู้ให้ประชาชน และการปรับปรุงระบบกฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญในการลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การระมัดระวังตัวเองและการปรับตัวให้ทันตามยุคสมัยถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการป้องกันตัวเองจากการโดนโกงในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน